ทำไมค่ายรถจีนสามารถฮุบส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่ง สู้ค่ายรถตะวันตกสูสีมากขึ้น?

KS
KS · 2022-05-17 14:22:58

เผยยอดขายรถยนต์สัญชาติจีนขยายส่วนแบ่งตลาดได้เกือบถึง 43% ในตลาดบ้านเกิด สามารถสู้กับคู่แข่งจากตะวันตกได้อย่างน่าติดตามชมมากยิ่งขึ้น

ย้อนกลับไปที่งานเซี่ยงไฮ้ ออโต้โชว์ในปี 2017 มีการเปิดตัว Zotye SR9 รถครอสโอเวอร์รุ่นใหม่ออกสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้ผู้บริหารของ Porsche ต้องขมวดคิ้วเพราะมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับ Porsche Macan อย่างยิ่ง

ภายในงานเดียวกันนั้น Geely กลุ่มทุนยานยนต์ยักษ์ใหญ่จากจีนเปิดตัวแบรนด์รถยนต์ใหม่ Lynk & Co ซึ่งทำให้ผู้สื่อข่าวต่างชาติถึงกับเกาหัวกับการแตกไลน์แบรนด์ใหม่อย่างต่อเนื่องของค่ายรถจีน โดยเวลานั้นยังไม่มีใครคาดคิดว่าแบรนด์รถยนต์เหล่านี้จะสู้กับฝั่งตะวันตกได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

กระทั่งเหมา เหว่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนได้กำชับนโยบายพลิกโฉมแบรนด์สินค้าจากจีน เขาเน้นย้ำว่าแบรนด์เหล่านี้แบกรักค่านิยมและความน่าเชื่อถือของประเทศ ดังนั้นจะต้องพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ หนึ่งในสินค้าที่ถูกยกระดับคือรถยนต์

จู หัวหลง ประธานใหญ่ Changan Auto เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หนึ่งในความท้าทายของค่ายรถจีนคือการยังไม่สามารถพัฒนารถยนต์พรีเมียมให้ผู้คนเชื่อถือได้ การพลิกโฉมแบรนด์ในระยะยาวเป็นกระบวนการที่ยากแต่มีความจำเป็น

เมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่านมาถึงไตรมาสแรกของปี 2022 ตัวเลขยอดขายรถยนต์จีนมีสัดส่วนสูงถึง 42.9% เพิ่มขึ้นจาก 36.9% ในปี 2017 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวจีนให้การยอมรับในรถยนต์ที่ผลิตโดยเพื่อนร่วมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ

เกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างปี 2017 – 2022?

ในปี 2017 มีแบรนด์รถยนต์มากมายอย่าง  Zotye, BAIC Huansu, Haima และ Lifan ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยความนิยมในรถเอสยูวีที่สื่อแดนมังกรใช้คำว่า “ก้าวกระโดดราวลูกระเบิด”

แต่หลังจากนั้นในปี 2018 – 2021 สัดส่วนยอดขายรถยนต์สัญชาติจีนลดลงถึง 3 ปีติดต่อกัน ส่วนทางกับรถยนต์เยอรมันและรถยนต์ญี่ปุ่นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ค่ายรถจีนหลายรายต้องล้มละลาย ฉุดรั้งอุตสาหกรรมยานยนต์จีนให้ถดถอยลงไปด้วย

ท่ามกลางช่วงเวลาที่มืดมน มีแบรนด์จีนที่ใช้โอกาสนี้นำเสนอรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ ทั้ง BYD, Nio, Xpeng และ LiAuto จนผงาดขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของตลาดรถยนต์ได้

รถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่หรือ new energy vehicles (NEVs) ตามคำนิยามของรัฐบาลปักกิ่งครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ฟิวเซล

อีกสองค่ายรถที่มีการขยายตัวอย่างน่าจับตามองคือ Great Wall และ Changan ด้วยการนำเสนอรถยนต์ที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง ขณะที่ในตลาดพรีเมียม FAW-Hongqi รุกเข้าแบ่งเค๊กเต็มตัวจนมียอดขายทะลุหลัก 300,000 คันในปี 2021

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แบรนด์รถยนต์จีนที่มีราคาจำหน่ายระหว่าง 120,000 – 250,000 หยวน (615,000 – 1,280,000 บาท) มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากที่สุด” ซุย ตงฉู เลขาธิการทั่วไปของสมาคมรถยนต์นั่งของจีน กล่าว

ขณะเดียวกัน ช่วงไตรมาสแรกของปนี้ ยอดขายรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ในจีนอยู่ที่ 1.257 ล้านคัน สัดส่วนยอดขายรถยนต์สัญชาติจีนมีมากกว่า 50% โดย BYD สามารถทำตัวเลขได้ 282,000 คัน แซงหน้า Tesla ที่ทำได้ 108,300 คัน

เว็บไซต์ CarNewsChina วิเคราะห์ไว้ว่า ความนิยมในรถพลังงานทางเลือกใหม่ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจรถยนต์จีนมากขึ้นเนื่องจากราคาจำหน่ายที่ย่อมเยากว่า แต่ประเด็นที่น่าจับตามองก็คือรถยนต์จีนที่มีราคาจำหน่ายสูงก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน

KS

KS นักเขียนอาวุโส

อดีตนักข่าว เอเจนซี่ และฟรีแลนซ์ฝีมือเยี่ยม ที่นำประสบการณ์ร่วม 20 ปีมาถ่ายทอดคอนเทนท์และประเด็นข่าวในวงการยานยนต์ทั้งไทยและเทศในรูปแบบที่สดใหม่และแตกต่าง

Toyota
Honda
Nissan
Mitsubishi
Mazda
Suzuki
Isuzu
Ford
Mercedes-Benz
BMW
Aston Martin
Audi