Ford จดสิทธิบัตรการชาร์จอีวีแบบใหม่ ใช้เครื่องเดียว ชาร์จรถได้หลายคัน แต่ยังมีข้อกังวล

Salin
Salin · 2023-02-26 16:06:11

  • หลักการทำงานของเทคโนโลยีนี้
  • ชาร์จได้หลากหลายรูปแบบ
  • ข้อกังวลที่อาจเกิดขึ้น
  • ประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีนี้

Ford (ฟอร์ด) คิดค้นไอเดียใหม่ของการชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่เหมาะสำหรับเจ้าของอีวีที่ต้องการที่ชาร์จ แต่ไม่สามารถหาที่ชาร์จที่ว่างได้ เสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มผู้ใช้อีวีให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกระดับ

เว็บไซต์ CarBuzz ได้ค้นพบสิทธิบัตรที่ Ford จดและถูกเผยแพร่โดยกับสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา สิทธิบัตรนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้รถที่เสียบปลั๊กชาร์จได้สามารถเชื่อมต่อกันโดยใช้เครื่องชาร์จเพียงเครื่องเดียวได้

โดยพื้นฐานของไอเดียนี้รถทุกคันจะต้องมีระบบที่เรียกว่า vehicle-to-everything (V2X) เป็นพื้นฐาน บวกกับรองรับการชาร์จสองทิศทางเพื่อทำให้รถเสียบปลั๊กทั้ง BEV และ PHEV จำนวนหลายคัน สามารถชาร์จได้ตามลำดับ ชาร์จพร้อมกัน หรือชาร์จคนเดียวได้ 

อ่านเพิ่มเติม : Ford F-150 Lightning ช่วยชีวิตชาวอเมริกันจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ได้

 

แนวคิดนี้มีข้อดีและข้อเสียมากมายที่ต้องพิจารณา แต่ก่อนเราจะไปถึงตรงนั้น เราควรรู้ก่อนว่าระบบนี้ทำงานอย่างไรบ้าง

สิทธิบัตรนี้เสนอให้รถไฟฟ้าในอนาคตของ Ford นั้นมาพร้อมสายชาร์จ 2 รูปแบบ โดยแบบแรกนั้นมีไว้สำหรับการเสียบชาร์จแบบทั่วไป ส่วนสายอีกแบบจะทำหน้าที่คล้ายกับปลั๊กที่อนุญาตให้รถคันอื่นใช้ไฟจากรถของเราได้ 

อีกทางหนึ่ง เราก็ยังสามารถใช้อแดปเตอร์เดียวที่สามารถแยกการชาร์จได้หลายทางได้

ปัจจุบัน ดูเหมือนว่า Ford F-150 Lightning จะมีสิ่งที่เรียกว่าระบบ Pro Power Onboard ที่ทำให้กระบะไฟฟ้าทำหน้าที่เป็นเหมือนพาวเวอร์แบงค์สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องมือต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถขายอแดปเตอร์ที่แยกการชาร์จหลายคันเป็นอุปกรณ์เสริมได้อีกต่อหนึ่ง

ซึ่งหมายความว่า ที่รถไฟฟ้าทุกคันของ Ford ไม่จำเป็นที่จะต้องมีฟังก์ชั่นการชาร์จแบบนี้จากโรงงาน

รูปแบบการชาร์จต่อกันที่หลากหลาย

ในสิทธิบัตรดังกล่าว Ford ยังนำเสนอวิธีการที่หลากหลายในการชาร์จจากเครื่องชาร์จเดียว ตั้งแต่วิธีแบบกระจาย แบบน้ำตก แบบกำหนดเป้าหมาย และแบบอัตโนมัติ  

วิธีแบบกระจาย (distributed charging) จะเป็นการชาร์จรถทุกคันในความเร็วที่เท่ากัน ขณะที่วิธีแบบน้ำตก (waterfall charging) จะมีรถคันแรกเท่านั้นที่จะต้องเสียบปลั๊กชาร์จกับตู้ (โฮสต์) โดยรถคันแรกจะสามารถเลือกได้ว่าจะรอให้ชาร์จจนเต็มเลยหรือจะเป็นค่าที่ตั้งไว้ เมื่อถึงจุดนั้นแล้วไฟก็จะไหลไปยังคันต่อ ๆ ไป

วิธีชาร์จแบบกำหนดเป้าหมาย (targeted charging) จะอนุญาตให้รถที่เป็นโฮสต์สามารถกำหนดได้เลยว่ารถแต่ละคันที่เสียบต่อนั้นจะได้ไฟเท่าไหร่ 

ส่วนวิธีชาร์จแบบอัตโนมัติ (automated charging) จะให้รถที่เป็นโฮสต์สามารถกำหนดว่าแต่ละคันที่เสียบต่อนั้นจะได้ไฟเท่าไหร่ได้เช่นกัน แต่มีเงื่อนไขที่ขึ้นกับว่ารถแต่ละคันที่เสียบต่อไปนั้นเหลือความจุแบตเตอรี่หรือระยะทางอยู่เท่าไหร่ ไปจนถึงว่าสายชาร์จเป็นแบบไหน (กรณีที่มีสายชาร์จหลายรูปแบบ)

นอกจากนี้ Ford ยังมีวิธีชาร์จอีกแบบที่เรียกว่า การชาร์จแบบ pay-for-use หรือจ่ายตามที่ใช้ ซึ่งทำให้รถคันใดก็ตามที่ต้องการชาร์จเร็วกว่าก็สามารถจ่ายเพิ่มแก่รถที่เสียบกับตู้ชาร์จเพื่อให้ชาร์จเร็วขึ้นได้

ใช้แอพช่วยจัดการให้ชีวิตง่ายขึ้น

สิทธิบัตรนี้จะใช้ร่วมกับแอพพลิเคชั่น FordPass โดยเชื่อมต่อด้วย Bluetooth, Wi-Fi และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย Ford หวังว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจในแนวคิดการสนับสนุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในรูปแบบธุรกิจขนาดเล็กสำหรับเจ้าของรถไฟฟ้า

เว็บไซต์ CarBuzz ยังระบุว่า Ford ได้เห็นว่าระบบการชาร์จเหล่านี้จะสามารถเข้ากันได้กับการชาร์จแบบไร้สายด้วยเช่นกัน ทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนโดยการเพิ่ม-ลดจำนวนรถที่จะชาร์จต่อจากรถที่เป็นโฮสต์ได้อย่างอิสระ

ข้อกังวลที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีนี้

เทคโนโลยีนี้อาจมีช่องโหว่บางอย่างที่อาจรบกวนผู้ใช้งานได้ ตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์ที่เรากำลังชาร์จกับตู้อยู่ แล้วมีใครก็ตามมาเสียบเอาไฟจากรถเราต่อโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเรา ทำให้เจ้าของรถที่เป็นโฮสต์อย่างเราต้องจ่ายค่าไฟคนเดียว และยังต้องเสียค่าชาร์จที่มากกว่าปกติเพราะต้องชาร์จรถหลายคัน

แต่ข้อกังวลที่ว่ามานี้อาจจะจัดการได้ด้วยซอฟท์แวร์อย่างแอพพลิเคชั่น FordPass ที่จะบอกได้ว่ามีใครแอบดูดไฟจากเราหรือไม่

ข้อกังวลอีกประการหนึ่งคือ เมื่อรถคันหนึ่งเป็นโฮสต์ อาจทำให้รถคันนั้นมีความร้อนสะสมมากเกินไป เพราะจะต้องเป็นตัวส่งผ่านประจุไฟฟ้าเหล่านั้น

แม้จะไม่มีการระบุวิธีแก้ในสิทธิบัตร แต่ดูเหมือนว่า Ford จะมีวิธีป้องกันอยู่แล้วด้วยระบบบายพาส แต่วิธีดังกล่าวอาจส่งผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในเรื่องฮาร์ดแวร์ เช่น สายชาร์จ รวมถึงน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น หากเราเป็นรถที่เสียบต่อจากรถของโฮสต์ หากรถที่เป็นโฮสต์ชาร์จเต็มและต้องการออกจากการชาร์จขณะที่เรายังต้องการชาร์จต่อแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป 

ลองคิดไปก่อนว่าแอพพลิเคชั่น FordPass จะช่วยเตือนผู้ใช้งานเรื่องนี้ขณะที่เราทำอย่าอื่นอยู่ รถที่เป็นโฮสต์ก็อาจต้องเสียเวลารอเจ้าของรถที่เสียบไฟต่ออีกไม่รู้กี่คัน ซึ่งอาจจสร้างความวุ่นวายที่มากขึ้น และยังไม่นับรวมถึงระบบการคิดอัตราค่าชาร์จว่าจะเป็นอย่างไร

และหากเป็นวิธีชาร์จแบบอัตโนมัติ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งคนที่จ่ายมากกว่าจะชาร์จได้เร็วกว่านั้น คนที่เป็นโฮสต์อาจจะไม่ยินดีที่จะรอชาร์จนาน ๆ 

ประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีนี้

สำหรับผู้ต้องการใช้รถไฟฟ้าในจุดประสงค์ด้านฟลีทหรือเพื่อการพาณิชย์ วิธีการชาร์จนี้อาจช่วยประหยัดต้นทุนของโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไปได้มากทีเดียว เพราะการรักษาความจุแบตเตอรี่รถทุกคันให้เท่า ๆ กันนั้นสามารถทำได้ง่ายขึ้น

หรือในกรณีที่รถไฟฟ้าคันไหนต้องการการชาร์จที่เร่งด่วน ขณะที่มีรถที่กำลังชาร์จอยู่แต่ไม่เร่งรีบ ก็สามารถเสียบต่อและปรับลำดับความสำคัญมายังรถคันที่ต้องการได้เลย

ประโยชน์เหล่านี้ยังเหมาะกับผู้ที่มีที่ชาร์จเพียงเครื่องเดียวในโรงรถ แต่มีรถอีวีหลายคัน โดยเมื่อรถคันหนึ่งเสียบชาร์จแล้ว รถคันต่อ ๆ ไปก็สามารถเสียบสายต่อกันไปได้เลย และเมื่อจะออกจากบ้านในวันรุ่งขึ้น ความจุไฟฟ้าที่มีในรถก็จะเพิ่มขึ้นเท่า ๆ กันทุกคัน

นอกจากนี้ ตัวแทนจำหน่ายของรถอาจไม่จำเป็นต้องมีเครื่องชาร์จจำนวนมากเพื่อรองรับต่อความต้องการ 

และประโยชน์ข้อสุดท้ายคือ เราไม่จำเป็นต้องรอให้รถคันก่อนชาร์จให้เสร็จเรียบร้อยก่อนถึงจะชาร์จต่อได้ เราสามารถเสียบไฟจากรถคันก่อนได้เลย ซึ่งทำให้ข้อกังวลก็อาจเป็นข้อดีได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม : ไหนว่า EV จะถูกลง Ford F-150 Lightning ราคาพุ่งขึ้น 7% เพราะความต้องการสูงมาก

Salin

Salin

Toyota
Honda
Nissan
Mitsubishi
Mazda
Suzuki
Isuzu
Ford
Mercedes-Benz
BMW
Aston Martin
Audi